ข้าวคลุกกะปิ
ข้าวคลุกกะปิ เป็นอาหารไทยภาคกลางที่นำข้าวมาคลุกกับกะปิ โดยใช้ข้าวก้นหม้อหรือข้าวค้างคืน นิยมใช้ข้าวเสาไห้หรือข้าวหอมมะลิเก่าโดยหุงใช้น้ำน้อย สมัยโบราณจะห่อกะปิด้วยใบตอง แล้วนำไปปิ้งไฟให้มีกลิ่นหอมก่อนนำมาคลุกกับข้าว การคลุกข้าวกับกะปิจะนำลงไปผัดในกระทะให้หอมแล้วจึงคลุกกับข้าว จากนั้นตกแต่งด้วยเครื่องเคียง คือ กุ้งแห้งทอดกรอบ หมูหวาน กุนเชียง ไข่เจียวหั่นฝอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย มะม่วงดิบ ผักชีและแตงกวา ที่มาของข้าวคลุกกะปิ บ้างว่าได้รับอิทธิพลจากอาหารมอญ[2] บ้างว่ามาจากข้าวคลุกปลาดุกย่างที่มีวิธีการทำและใช้เครื่องปรุงลักษณะเดียวกัน[3] จากหลักฐานการบันทึก มีการกล่าวถึงข้าวคลุกกะปิ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ปรากฏอยู่ในหนังสือ บุรุษรัตนะ บันทึกของมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)[4] บันทึกว่าทรงฝันถึงกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร "—ข้าฝันไปว่าเสด็จยายทรงปรุงข้าวคลุกกะปิให้กินอร่อยมาก ทำให้ข้าอยากกินข้าวคลุกกะปิ เจ้าเตรียมกะปิและเครื่องต่าง ๆ สำหรับปรุงไว้ให้ข้า พรุ่งนี้ข้าตื่นนอนข้าจะคลุกเอง—"[5] ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวคลุกกะปิ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 549 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นปริมาณพลังงานประมาณ 1 ใน 3 ของที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี ต่อวัน หนึ่งจานมีปริมาณโปรตีนประมาณ 25 กรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ซึ่งมาจากเนื้อหมู กุ้งแห้ง และไข่เจียว เป็นส่วนใหญ่ ส่วนปริมาณไขมันได้ร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด หรือคิดเป็น ร้อยละ 43 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคทั้งวัน ซึ่งถือว่าสูงไปบ้าง[6] อ้างอิง
|