Share to:

 

ผัดกะเพรา

ผัดกะเพรา
ผัดกะเพราหมูกรอบ ราดข้าว
แหล่งกำเนิดไทย
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักใบกะเพรา, เนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล, กระเทียม, น้ำปลา, น้ำตาล

ผัดกะเพรา เป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจานหนึ่ง[1] เป็นอาหารริมทาง อาหารตามสั่งที่มีทั่วไปในประเทศไทย บางครั้งเรียกว่า เมนูสิ้นคิด เนื่องจากเมื่อจะสั่งอาหารแล้วไม่รู้ว่าจะรับประทานอะไรก็มักจะสั่งผัดกะเพรา[2]

วัตถุดิบประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ใบกะเพรา พริก กระเทียม บ้างใส่ผักชนิดอื่นลงไปด้วย เช่น ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน แคร์รอต หอมหัวใหญ่ เนื้อสัตว์ที่ใช้ในการทำผัดกะเพรา ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว กุ้ง ปลาหมึก หรือแม้แต่ปลา หอยแมลงภู่ เนื้อปู วิธีการปรุง ใช้วิธีการผัดวัตถุดิบเข้าไปด้วยกัน มีการปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล บ้างใส่ผงชูรส ซีอิ๊วดำ พริกไทยป่น เติมน้ำสต๊อกพอให้ขลุกขลิก รับประทานกับข้าวสวย อาจกินด้วยกับไข่ดาว มีน้ำปลาพริกเป็นเครื่องปรุงให้รสหอมและเผ็ดขึ้น[3]

ประวัติ

จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ (พ.ศ. 2230) ได้ระบุถึงใบกะเพราไว้ในบันทึกเกี่ยวกับน้ำพริกของชาวไทยว่า “…ผักลางชนิดที่มีกลิ่นดี เช่น กะเพรา…”[4] มีข้อสันนิษฐานน่าจะรับเอาต้นกะเพรามาจากศาสนาพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ มักจะใช้กะเพราสำหรับบูชาเทพเจ้า[5] ส่วนที่บันทึกไว้ใน อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเล พ.ศ. 2416 ให้ความหมายว่า "ผักอย่างหนึ่งต้นเล็ก ๆ ใบกลิ่นหอม ใช้แกงกินบ้าง ทำยาบ้าง"[6]

ผัดกะเพราน่าจะเกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะคนจีนนำเอามาขายในร้านอาหารตามสั่ง[5] และพบโฆษณาเครื่องแกงสำเร็จ พ.ศ. 2476 ตรา หม้อพานทอง ระบุว่า "พริกแกงที่มีจำหน่าย ประกอบด้วยเครื่องแกงไก่ เนื้อ กะหรี่ มัสหมั่น ปลาดุก ปลาไหล ห่อหมก จ๋วน ผัดกะเพรา"[7]

อย่างไรก็ดี ผัดกะเพราน่าจะเพิ่งนิยมราว พ.ศ. 2500 ซึ่งประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ก็กล่าวไว้ว่ากะเพราผัดพริกเป็นของที่เพิ่งนิยมกันเมื่อ 30 กว่าปีมานี้ (นับจาก พ.ศ. 2531 ปีที่ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อาหารรสวิเศษของคนโบราณ)[8] โดยน่าจะดัดแปลงจากอาหารจีน ที่ตำรับจีน เอาเต้าเจี้ยวดำผัดกับกระเทียมเจียวให้หอม แล้วจึงเอาเนื้อสับหรือไก่หั่นเป็นชิ้น ๆ ลงไปผัดกับน้ำปลาและซีอิ๊วดำ บ้างก็ว่าเลียนแบบมาจากเนื้อผัดใบยี่หร่า[5] สำหรับผัดกะเพราที่ปรากฏในตำรากับข้าวยุคปลายทศวรรษ 2520 อย่างใน ตำราอาหารชุดจัดสำรับ (ชุด 2) ระบุว่า ผัดกะเพราเนื้อจะปรุงด้วยน้ำปลาและผงชูรสเท่านั้น แล้วเอาข้าวลงผัดคลุกเป็นข้าวผัด กินกับถั่วฝักยาวสด ส่วนใน กับแกล้มเหล้า ประมวลกับแกล้มเหล้า–เบียร์ทันยุค ของ “แม่ครัวเอก” (พ.ศ. 2541) ระบุว่า จะหมักเนื้อสับกับเหล้าก่อน แล้วปรุงเพียงน้ำปลาและน้ำตาลปี๊บ ในระยะหลัง ๆ จึงค่อยใส่ซอสปรุงรสชนิดต่าง ๆ น้ำตาลทราย น้ำมันหอย รสดี น้ำพริกเผา ฯลฯ[9]

ผัดกะเพราในญี่ปุ่น

ศูนย์วิจัย เจเอ็มเอ รีเสิร์ซ ของญี่ปุ่น ได้สำรวจแนวโน้มอาหารในครอบครัวญี่ปุ่นปี 2559 พบว่าเมนูอาหารต่างชาติ เริ่มกลายเป็นเมนูอาหารในบ้านของชาวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยมีอาหารไทยติดอยู่หนึ่งใน 15 อันดับ คือ ข้าวผัดกะเพรา และข้าวมันไก่[10] และจากข้อมูลปี 2561 ในเซเว่น อีเลฟเว่นที่ญี่ปุ่น มีจำหน่ายข้าวกล่องเมนูผัดกะเพรา แต่ส่วนผสมกลับไม่มีการใช้ใบกระเพราเป็นวัตถุดิบเลยแม้แต่น้อย วิธีรับประทานคือคลุกผัดกะเพราเข้ากับยำวุ้นเส้นแล้วราดด้วยซอสผักชี แล้วรับประทานกับข้าว[11]

คุณค่าทางอาหาร

ผัดกะเพราไก่ราดข้าว มีส่วนประกอบหลักในอาหาร 5 หมู่ ปริมาณอาหารกะเพราไก่ราดข้าว 1 จาน มีน้ำหนักประมาณ 3 ขีด หรือ 300 กรัม ให้พลังงาน ทั้งหมด 554 กิโลแคลอรี คิดเป็นร้อยละ 28 ของพลังงานที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ประกอบด้วยโปรตีน 16.3 กรัม คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ส่วนไขมันซึ่งมีอยู่ในปริมาณ 21.2 กรัม ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะเช่นกัน คือ คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ขณะที่คาร์โบไฮเดรตมีอยู่ในปริมาณ 74.3 กรัม[12]

อ้างอิง

  1. Thuan, Willy. "Thuan, W. (n.d.). Top 10 Thai Food - Most Popular Thai Foods". Bangkok.com. Asia Web Direct.
  2. ไสว บุญมา (27 ธันวาคม 2558). "เมื่อกูรูสิ้นคิดคุมเศรษฐกิจของชาติ". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. ทรงวิศวะ, ดวงพร. "คนโบราณกินผัดกะเพราต่างจากเรายังไง". readthecloud.co. เดอะคลาวด์.
  4. กฤช เหลือสมัย. "คืนชีพน้ำพริกไทยในบันทึกฝรั่ง", ศิลปวัฒนธรรม 43(4)(กุมภาพันธ์ 2565):43.
  5. 5.0 5.1 5.2 สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี (15 มิถุนายน 2562). "ใบกะเพรา". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  6. "กะเพรา ผักพื้นบ้านและพืชศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู". หมอชาวบ้าน. 1 มีนาคม 2540. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  7. กฤช เหลือสมัย. "ดงกะเพราะป่า ที่มาของผัดกะเพราอร่อย", ศิลปวัฒนธรรม 44(2)(ธันวาคม 2565):60.
  8. อาสา คำพา. (2565). รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 195. ISBN 978-974-02-1794-7 อ้างใน น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ). (2531). อาหารรสวิเศษของคนโบราณ.
  9. "ผัดพริกใบกะเพรา…เก่าแค่ไหน". ต้นสายปลายจวัก. กฤช เหลือลมัย. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม 2559.
  10. "'ผัดกระเพรา-ข้าวมันไก่' เมนูฮิตแดนอาทิตย์อุทัย". bangkokbiznews.com. กรุงเทพธุรกิจ.
  11. "โอกาสธุรกิจ 'อาหารไทย' เทรนด์ข้าวกะเพรามาแรงไม่หยุดในญี่ปุ่น". Smart SME.
  12. "มื้อนี้ได้อะไร". หมอชาวบ้าน. 1 สิงหาคม 2541. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya