ข้าวผัดอเมริกัน (อังกฤษ: American fried rice) เป็นข้าวผัดชนิดหนึ่งที่ผัดด้วยซอสมะเขือเทศ นิยมผัดกับเนยมากกว่าน้ำมัน โดยนิยมใส่ลูกเกดด้วย อาจมีถั่วลันเตา หัวหอม หรือแฮมหั่นชิ้นเล็ก ๆ ผัดรวมกันด้วยก็ได้ และมีไก่ทอด ไก่ย่าง ไก่อบ ไส้กรอก แฮม หรือไข่ดาว เป็นเครื่องประกอบ
ประวัติ
ข้าวผัดอเมริกันมีที่มาและเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องอยู่หลายเรื่อง โดยที่เรื่องเล่าส่วนใหญ่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับทหารอเมริกันหรือวัฒนธรรมอเมริกันทั้งสิ้น ในปัจจุบันมีเรื่องเล่าและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของข้าวผัดอเมริกันอยู่สามเรื่อง ดังนี้
- เรื่องแรก คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต (เจ้าของนามปากกา "นิตยา นาฏยะสุนทร" ภรรยา นายวิลาศ มณีวัต บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ชาวกรุง คนแรก) เคยให้สัมภาษณ์หนังสือสกุลไทย [1] เกี่ยวกับต้นกำเนิดของ "ข้าวผัดอเมริกัน" ว่าเป็นอาหารที่คุณหญิงสุรีพันธ์ได้ประยุกต์ขึ้นเอง ขณะทำงานเป็นผู้จัดการราชธานีภัตตาคาร ซึ่งเป็นแอร์พอร์ตเรสตัวรองต์ ของกรมรถไฟ ในสนามบินดอนเมือง โดยที่มีสายการบินแห่งหนึ่งสั่งจองอาหารเช้าและอาหารกลางวันไว้แต่ยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้อาหารเช้าแบบอเมริกันที่เตรียมไว้ เช่น ไข่ดาว ไส้กรอก เหลืออยู่จำนวนมาก คุณหญิงสุรีพันธ์ ได้นำข้าวผัดที่มีอยู่มาประกอบกับอาหารเช้าแบบอเมริกันดังกล่าวเพื่อรับประทาน นายทหารอากาศไทยที่เห็นเข้าได้สั่งรับประทานด้วย เมื่อทหารอเมริกันมาเห็นและถามถึงชื่อข้าวผัดดังกล่าว คุณหญิงสุรีพันธ์ ได้ตั้งชื่อว่า "อเมริกัน ฟรายด์ ไรซ์" หรือ "ข้าวผัดอเมริกัน" ซึ่ง พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารอากาศในขณะนั้นได้ทราบแล้วชอบชื่อนี้มาก ข้าวผัดอเมริกันขณะนั้นมีส่วนประกอบไม่แน่นอน บางวันส่วนประกอบก็เปลี่ยนจากไส้กรอกหรือไก่อบเป็นเนื้อทอด แล้วแต่ว่าในครัวจะเหลืออะไร เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขณะคุณหญิงสุริพันธ์แต่งงานและมีลูกแล้ว จึงเป็นเหตุการณ์หลังวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นวันที่คุณหญิงแต่งงาน แม้ยังไม่พบข้อมูลแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด แต่น่าจะเกิดก่อนปี พ.ศ. 2497 ที่คุณหญิงสุรีพันธ์ลาออกจาก ราชธานีภัตตาคาร ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
- เรื่องที่สอง ข้อสันนิษฐานจากอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ข้าวผัดอเมริกัน เกิดจากพ่อครัวชื่อ "โกเจ๊ก" คิดค้นขึ้นเพื่อให้บริการทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาและในค่ายรามสูร ที่จังหวัดอุดรธานี ในช่วงที่ไทยยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม และต่อมาได้รับความนิยมจนเผยแพร่ไปทั่วประเทศ หากเหตุการณ์นี้เป็นจริงในช่วงสงครามเวียดนาม จะเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2518
- เรื่องที่สาม สันนิษฐานจากไวยากรณ์การปรุงจากส่วนผสมของข้าวผัดอเมริกัน[2] เมื่อสืบย้อนกลับไปตรวจสอบหลักฐานทางเอกสารในสหรัฐแล้วก็พบว่า ข้าวผัดอเมริกัน มีลักษณะการปรุงและส่วนประกอบคล้ายกับอาหารที่ชื่อ ข้าวเม็กซิกัน (Mexican Rice) ที่มีลักษณะเป็นข้าวหุงหรือผัดกับมะเขือเทศหรือซอสมะเขือเทศ กินกับเครื่องเคียงหลากชนิด โดยสูตรของข้าวเม็กซิกันปรากฏขึ้นครั้งแรกสุดในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ในตำรับอาหารประจำวันจากหนังสือพิมพ์ Newark Evening Star and Newark Advertiser ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ข้าวเม็กซิกันสูตรนี้เสิร์ฟกับไส้กรอก และในเวลาต่อมา ข้าวเม็กซิกันได้ถูกจับคู่กับอาหารอื่น ๆ เช่น ไข่ดาว ไก่ทอด เบคอนกรอบ ตามลำดับ จึงสันนิษฐานว่าข้าวเม็กซิกันน่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับทหารอเมริกันในช่วงสงครามเย็นและกลายเป็นบรรพบุรุษของข้าวผัดอเมริกันในเวลาต่อมา
อ้างอิง
|
---|
อาหารจานเดียว | |
---|
กับข้าว | |
---|
อาหารว่าง | |
---|
ของหวาน | |
---|
ส่วนประกอบ/เครื่องปรุงรส/ เบ็ดเตล็ด | |
---|
เครื่องดื่ม | |
---|
|