Share to:

 

กระยาสารท

กระยาสารท (/กระยาสาด/) เป็นขนมไทย ทำจากถั่ว งา ข้าวคั่ว และน้ำตาล มักทำกันมากในช่วงสารทไทย แรม 15 ค่ำ ปลายเดือน 10 และบางท้องถิ่นนิยมรับประทานกับกล้วยไข่ มีกล่าวถึงในนิราศเดือนว่า[1] ขนมกระยาสารทเป็นขนมโบราณ มีความพิเศษตรงที่เป็นขนมสำหรับงานบุญประเพณีของไทย เรียกได้ว่าเป็นขนมที่มีประเพณี และวันเวลาเป็นของตัวเองชัดเจนมากเลยทีเดียว จนอาจจะทำให้หลายคนนึกสงสัยขึ้นมาได้ ว่าทำไมขนมกระยาสาทรหอมหวานที่เป็นแพเหนียว ๆ นี้ จึงมีความสำคัญมากเสียจนต้องจัดพิธีทำบุญด้วยขนมกระยาสารท

แม้ขนมกระยาสารทจะเป็นขนมไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่รากศัพท์ของคำว่าสารทจริง ๆ แล้วเป็นคำในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง หรือช่วงระยะปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันวาควรจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักสิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะ และขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดี และประเพณีนี้ก็มีในแถบประเทศจีนและตอนเหนือของยุโรปด้วย แต่สำหรับไทยแล้วประเพณีนี้มาแพร่หลายในช่วงสมัยสุโขทัย พร้อม ๆ กับพราหมณ์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทย แต่ช่วงเวลาของประเพณีตามอินเดีย เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวงของไทย ชาวบ้านจึงเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อน ๆ และเมล็ดยังไม่แก่ เอามาคั่วแล้วตำให้เป็นเมล็ดข้าวแบน ๆ เรียกว่า ข้าวเม่าแทน

ส่วนตำราความเชื่อของขนมกระยาสารทมีอยู่ 2 ตำราด้วยกัน ตำราหนึ่งกล่าวว่า มีพี่น้องอยู่สองคนชื่อ มหากาลผู้พี่ และจุลกาลผู้น้อง ทั้งสองทำการเกษตรกรรมร่วมกันคือ ปลูกข้าวสาลีบนที่ผืนเดียวกัน จุลกาลนั้นเห็นว่าข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นมีรสหวานอร่อย ก็เลยอยากนำข้าวนั้นไปถวายแด่พระสงฆ์ จึงปรึกษากับมหากาลพี่ชาย แต่มหากาลไม่เห็นด้วย มหากาลจึงแบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้ต่างคนต่างนำข้าวไปใช้กิจอันใดก็ได้ จุลกาลจึงนำเมล็ดข้าวที่กำลังตั้งท้องมาผ่า แล้วต้มกับน้ำนมสด ใส่เนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายกรวด เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อถวายภัตตาหารเหล่านี้แด่พระสงฆ์ จุลกาลได้ทูลความปรารถนาของตนกับพระพุทธเจ้าว่า ขอให้ตนบรรลุธรรมวิเศษก่อนใคร และเมื่อกลับบ้านไป ก็พบว่านาข้าวสาลีของตนนั้นออกรวงอุดมสมบูรณ์สวยงาม จนเก็บเกี่ยวไป 9 ครั้งก็ยังอุดมสมบูรณ์อยู่อย่างนั้นตลอดไป

เป็นอาหารที่ทำให้ฤดูสารท กระยาสารทนี้เนื่องมาจาก ข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารอินเดียใช้ข้าว น้ำตาล น้ำนม ผสมกัน ซึ่งนางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้าส่วนผสมของกระยาสารทไทยมีข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งาคั่วให้สุกเสียก่อน แล้วนำมากวนกับน้ำอ้อยกวนให้เหนียวกรอบเกาะกันเป็นปึก จะทำเป็นกรอบเป็นก้อนหรือตัดเป็นชิ้นๆ เก็บไว้ได้นานทำจากพืชผลแรกได้กระยาสารทเป็นของหวานจัด โดยมากจะกินกับกล้วยไข่สุกทำถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กระยาสารทกำหนดทรงบาตรที่วิเศษ ในการพระราชพิธีสารทนี้ตกทอดกันมานาน

คนผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะพากันหยุดงาน ตระเตรียมสิ่งของทำบุญที่เรียกว่ากระยาสารทเป็นของหวาน ประจำเทศกาลสารท นิยมทำกันก่อนวันสิ้นเดือนเป็นวันโกน วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว จนกลายเป็นประเพณีสารทไทย หรือเทศกาลกวนขนมกระยาสารทจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง ปรากฎคำกลอนในนิราศเดือนว่า

ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร
กระยาสารท กล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านถ้วนหน้าธารณะ

กระยาสารทเป็นสัญลักษณ์ของ ผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ซึ่งเป็นการเก็บ พืชผลครั้งแรกอีกด้วย[2]

อ้างอิง

  1. [1][ลิงก์เสีย], วันสารทไทย. วันที่สืบค้น 13 เมษายน 2559.
  2. [2] เก็บถาวร 2016-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, การกวนกระยาสารท กล้วยไข่. วันที่สืบค้น 13 เมษายน 2559.
Kembali kehalaman sebelumnya