Share to:

 

ข้าวต้มมัด

ข้าวต้มมัด
ข้าวต้มมัดไส้เนื้อหมู
ชื่ออื่นข้าวต้มผัด[1]
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียว, กะทิ, กล้วย

ข้าวต้มมัด หรือ ข้าวต้มผัด[1] เป็นขนมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยข้าวเหนียวผัดกับกะทิ แล้วนำไปห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน ใส่ไส้กล้วย นำไปนึ่งให้สุก ทางภาคใต้ใช้ข้าวเหนียวกับน้ำกะทิ ห่อด้วยใบพ้อ เรียกห่อต้ม ถ้าห่อด้วยใบมะพร้าว และมัดด้วยเชือกเรียกห่อมัด ขนมแบบเดียวกับข้าวต้มยังพบในประเทศอื่นอีก เช่นในฟิลิปปินส์เรียก อีบอส หรือ ซูมัน ที่แบ่งย่อยได้หลายชนิดเช่นเดียวกับข้าวต้มมัดของไทย[2]

อีบอส ขนมของฟิลิปปินส์ที่คล้ายข้าวต้มมัดของไทย
ข้าวต้มมัดไส้กล้วย หรือ ข้าวต้มกล้วย

ข้าวต้มมัดอีกชนิดหนึ่งเรียก ข้าวต้มลูกโยน เป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลออกพรรษา ห่อด้วยใบพ้อหรือยอดมะพร้าวเป็นรูปรี ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมถั่วดำไม่มีไส้ ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวงแล้วนำไปต้ม ส่วน ข้าวต้มมัดไต้ เป็นข้าวต้มที่ห่อแล้วมัดให้มีลักษณะเหมือนไต้ที่ใช้จุดไฟ ไส้เป็นถั่วทองโขลกกับรากผักชี กระเทียม พริกไทย ใส่หมู มันหมู ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำ น้ำตาลทราย ห่อด้วยใบตองเป็นแท่ง มัดเป็นเปลาะ 4-5 เปลาะ แล้วนำไปต้ม บางท้องที่ใช้เป็นขนมไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนและสารทจีนด้วย

ในปี พ.ศ. 2557 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนข้าวต้มมัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เพื่อป้องกันมิให้สูญหาย พร้อมกับมรดกทางวัฒนธรรมอย่างอื่น[3]

ประเภท

ภาคกลาง

เรียกว่า “ข้าวต้มมัด” โดยเรียกตามรูปลักษณ์ที่มีห่อและมัดเป็นกลีบโดยใช้ใบตองและเชือกกล้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เรียกข้าวต้มมัดว่า ข้าวต้มโค่น ใช้ข้าวเหนียวดิบมาห่อ ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อย ใส่ถั่วลิสงต้มสุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงห่อเป็นมัด ใส่ไส้กล้วย เอาไปต้มให้สุก ถ้าเป็นแบบผัด จะผัดข้าวเหนียวกับกะทิก่อนแล้วจึงห่อใส่ไส้กล้วย แล้วต้มให้สุก ถ้าต้องการหวานจะเอามาจิ้มน้ำตาล[4]

ภาคเหนือ

เรียกข้าวต้มมัดว่า ข้าวต้มผัด โดยเรียกตามกรรมวิธีที่ต้องมีการผัดก่อนนำไปห่อ และมีข้าวต้มอีกแบบหนึ่งที่นิยมนำข้าวต้มมัดที่สุกแล้วมาหั่นเป็นชิ้น ๆ คลุกกับมะพร้าวขูด โรยน้ำตาลทราย เรียก ข้าวต้มหัวหงอก[5]

ภาคใต้

ข้าวต้มมัดไม่มีไส้ เป็นข้าวเหนียวผัดกับกะทิ ใส่ถั่วขาว ไม่นิยมใช้ถั่วดำ ออกรสเค็มเป็นหลัก ถ้าต้องการให้มีรสหวานจะเอาไปจิ้มน้ำตาล[4] ส่วนทางนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า “เหนียวห่อกล้วย” เพราะ ลักษณะที่เห็นประกอบกับวิธีการทำเป็นการนำข้าวเหนียวมาห่อกล้วยเอาไว้ และห่อปิดด้วยใบตองอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ มีขนมชนิดหนึ่งเรียก ข้าวต้มญวน มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่ห่อใหญ่กว่า ทำให้สุกด้วยการต้ม เมื่อจะรับประทานจะหั่นเป็นชิ้น ๆ คลุกกับมะพร้าวขูด เกลือและน้ำตาลทราย[6]

ภูมิภาคอื่น

ในประเทศลาวมีข้าวต้มมัดเช่นเดียวกันเรียกว่า "เข้าต้ม" (ลาว: ເຂົ້າຕົ້ມ) ไส้เค็มใส่มันหมูกับถั่วเขียว ไส้หวานใส่กล้วย

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  • อรวสุ นพพรรค์. ขนมไทย. กทม. โอเดียนสโตร์. 2542
  1. 1.0 1.1 "ข้าวต้มมัด-ข้าวต้มผัด". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 19 November 2024.
  2. Nocheseda, Elmer I. "IN PRAISE OF SUMAN PAST". Tagalog Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2008-01-27.
  3. "ประกาศ! ข้าวต้มมัด-เมี่ยงคำ เป็นมรดกเสี่ยงสูญหายของชาติ". เอ็มไทยดอตคอม. 11 September 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ 13 September 2014.
  4. 4.0 4.1 เส้นทางขนมไทย. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 69-73
  5. "อาหารล้านนา: ข้าวต้มหัวหงอก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.
  6. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้. กทม. สถาบันทักษิณคดีศึกษา. 2527

แหล่งข้อมูลอื่น

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya