Share to:

 

ข้าวแกง

ข้าวแกง

ข้าวแกง หรือ ข้าวราดแกง อาหารคาวชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการนำกับข้าวประเภทต่างๆ มาราดลงบนข้าวสวย หรืออาจเป็นชุดตั้งโต๊ะ กับข้าวประกอบด้วยแกงเผ็ดและของเคียงแก้เผ็ดเป็นสำคัญ นอกจากแกงเผ็ด ยังมีผัดเผ็ด และอาจมีน้ำพริก ส่วนของเคียงแก้เผ็ด มักเป็นของทอด เช่น ปลาทอด เนื้อทอด กุนเชียงทอด และไข่ทั้งหลาย และผัดต่าง ๆ

ประวัติ

กรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ตลาดในพระนคร เช่นตลาดท่าขันหน้าวังตรา นอกจากมีสินค้าที่เป็นอาหารสดแล้ว ยังมีสินค้าที่ปรุงสำเร็จรูปแล้วมาจำหน่าย ได้แก่ ข้าวแกง เมี่ยวห่อ มะพร้าวเผา อาหารจีน กล้วยต้ม ปลาทะเลย่าง ปูเค็ม ปลากระเบนย่าง ฯลฯ[1] โดยระบุว่าขายข้าวแกงขายคนราชการ[2]

รัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1–3 แม้การค้าอาหารจะพบได้ทั่วไปทั่วกรุงเทพฯ ทั้งตลาดน้ำและตลาดบก แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ซื้ออาหารสดเพื่อปรุงอาหารที่บ้าน สันนิษฐานว่าพฤติกรรมการกินข้าวนอกบ้านน่าจะเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมรวมถึงตัดถนนสายแรก ผู้คนเริ่มอยู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมถนน ทำให้ผู้คนเริ่มกินข้าวนอกบ้านมากขึ้น เริ่มจะมีร้านข้าวแกงในแถบพระนครใน[3]

คำว่าข้าวแกง ปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีความว่า "เดิมกินข้าวไม่ได้ โกรธว่ากับข้าวไม่อร่อยบ่อย ๆ จนครั้งหนึ่งวานให้กรมหมื่นปราบซื้อข้าวแกงมากิน" กล่าวกันว่า ทรงโปรดเสวยข้าวแกงยิ่งนัก จนเมื่อเสด็จประพาสต้นตามท้องที่ต่าง ๆ ก็มักจะมีผู้จัดหาข้าวแกงมาถวายให้เสวยอยู่เสมอ

จากหนังสือ สารบาญชีส่วนที่ 2 คือราษฎรในจังหวัด ถนนแลตรอก จ.ศ. 1245 สำหรับเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์กรุงเทพมหานคร เล่ม 2 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่ามีร้านขายอาหารประเภทข้าวแกงจำนวน 57 ร้าน ร้านขายก๋วยเตี๋ยว 10 ร้าน ร้านขายผัดหมี่ 14 ร้าน ร้านขายข้าวตัม 2 ร้าน ร้านขายขนมจีน 3 ร้าน และร้านขายเครื่องเกาเหลา 6 ร้าน ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 พบการหาบเร่ขายข้าวแกง[4]

ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนได้กล่าวไว้ว่า เมื่อกว่าร้อยปีก่อน มีร้านขายข้าวแกงตาเพ็ง ยายพุก ตั้งอยู่สี่แยกบ้านหม้อมีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง เรียกกันว่า ศาลาตาเพ็ง สองผัวเมียที่ขายข้าวแกงจนร่ำรวยเป็นเศรษฐี[5]

นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารริมทางโดยเฉพาะบริเวณโรงบ่อน ส่วนใหญ่เป็นร้านชาวจีนแต้จิ๋ว มีร้านข้าวแกงขาย โดยพระยาอนุมานราชธน บันทึกว่า "ร้านขายข้าวแกงเหล่านี้ขายคนจีนชั้นกรรมกร แต่คนไทยก็เคยไปนั่งยอง ๆ แยงแย่อยู่บนม้ายาวกินเหมือนกัน เพราะเป็นอาหารราคาถูก"[6]

ปัจจุบัน

ร้านขายข้าวราดแกงในสมัยปัจจุบันมีขายทั่วไป ทั้งในรูปแบบร้านอาหาร เพิงขายอาหาร ในปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยจะมีพนักงานตักข้าวสวย ราดบนแกง ร่วมกับกับข้าวอื่น ตามลูกค้าสั่ง ร้านทั่วไปส่วนใหญ่ที่มีที่นั่งมักขายตอนเช้า ตามแหล่งชุมชน ส่วนร้านข้าวแกงสำหรับคนกินมื้อเย็นส่วนใหญ่อยู่ในตลาด มักเรียกว่าข้าวแกงหน้าตลาดหรืออาหารถุง ปัจจุบันในกรุงเทพ ร้านข้าวแกงที่เป็นที่นิยมยังมีข้าวแกงปักษ์ใต้[7]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์. "Diversity of Food Culture in Ayutthaya Period" (23): 80. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  2. "ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการกินอาหารไทยตั้งแต่อดีตจนถึงก่อนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม". p. 20.
  3. "ประวัติศาสตร์ข้าวแกง จากชนชั้นกลาง สู่อาหารสามัญประจำเมือง | จากรากสู่เรา". ไทยพีบีเอส.
  4. โดม ไกรปกรณ์. "การค้าอาหารในสังคมไทย สมัยอยุธยาตอนปลายสมัยการปฏิรูปประเทศ". p. 89.
  5. "ข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยว..." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-06.
  6. "ประวัติศาสตร์ปากว่าง: Street Food ไทยสมัยก่อนกินอะไร". วอยซ์ออนไลน์.
  7. สุธน สุขพิศิษฐ์ (23 สิงหาคม 2562). "วิวัฒนาการของข้าวแกง จากกับข้าวในบ้าน กับข้าวผูกปิ่นโต สู่กับข้าวร้อยอย่างในร้านริมถนน". เดอะคลาวด์. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
Kembali kehalaman sebelumnya