Share to:

 

ข้าวดอกราย

ข้าวดอกราย
ชื่ออื่นข้าวราหมัย
มื้ออาหารหลัก
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ผู้สร้างสรรค์ชาวสะกอม
อุณหภูมิเสิร์ฟอุณหภูมิห้อง
ส่วนผสมหลักเนื้อปลาทะเล, ข้าวสวย, กะปิ

ข้าวดอกราย หรือ ข้าวราหมัย[1] เป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นข้าวคลุกกับน้ำพริกและเนื้อปลาทะเลย่าง พร้อมเครื่องเคราและเครื่องปรุงรสอีกเล็กน้อย[1][2] พบได้เฉพาะในชุมชนชาวสะกอม ในตำบลสะกอม อำเภอจะนะ และตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และต้องใช้ครกแบบพิเศษสำหรับทำอาหารนี้โดยเฉพาะ[3]

ประวัติ

ข้าวดอกรายเป็นอาหารเฉพาะกลุ่มของชาวสะกอม พวกเขายึดอาชีพประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่ง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาประกอบอาหาร[3] เชื่อกันว่าอาหารชนิดนี้มีมานานแล้ว[4] มีเรื่องราวมุขปาฐะประจำชุมชนว่า หากมีครอบครัวที่พี่น้องมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง หรือผิดใจกันแม้จะเพียงเล็กน้อย พ่อแม่จะชวนลูก ๆ ล้อมวงรับประทานข้าวดอกรายเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจกัน บางคนให้สมญาว่า ข้าวสามัคคี[1][5] เพราะเป็นสิ่งที่เรียกว่า "กินข้าวครกเดียวกัน" หมายถึง การพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน[4] การทำข้าวดอกรายแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบในการทำมาคนละอย่างสองอย่างเพื่อทำและล้อมวงรับประทานด้วยกัน[5]

ส่วนที่ใช้ชื่ออาหารชนิดนี้ว่า "ข้าวดอกราย" เพราะมีส่วนผสมที่หลากหลาย หาได้ง่ายจากในครัวเรือน โดยเฉพาะข้าวเย็น ซึ่งเป็นข้าวที่กินเหลือจากอาหารมื้อก่อน[4]

ส่วมผสม

วัตถุดิบสำหรับทำข้าวดอกราย ประกอบไปด้วย ข้าวสวย เนื้อปลาทะเลสุก (จากการย่างหรือต้ม ตามชอบ)[5] ตะไคร้ หอมแดง พริกสด กะปิเคย กุ้ง และน้ำมะขามเปียก[1][3] มีกรรมวิธีทำไม่ยาก เบื้องต้นต้องตำน้ำพริกลงในครก ด้วยการใส่ตะไคร้ซอย หอมแดงซอย พริก เนื้อปลาทะเลสุกแกะเนื้อ กะปิ ตำทุกอย่างให้เข้ากัน แต่งรสด้วยน้ำมะขามเปียก (หรือมะขามสด) ก่อนคดข้าวเย็นลงไปคลุกกับน้ำพริกที่ตำไว้ในครกให้เข้ากัน[1] โดยปรุงให้ได้รสเปรี้ยวนำ เค็มและเผ็ดตาม[3] รับประทานเคียงกับผักสด ปลาเส้นทอด หรือปลาแห้งทอด จะยิ่งทำให้ข้าวดอกรายมีรสชาติที่ดีขึ้น[1][4]

ข้าวที่ใช้จะเป็นข้าวเย็นที่กินเหลือจากอาหารมื้อก่อน เพื่อให้เมล็ดข้าวคงรูปไม่เละ[1] บ้างก็ว่าเป็นกุศโลบายให้ใช้อาหารกินเหลือให้เกิดประโยชน์[3][4] กะปิควรใช้กะปิสดใหม่ จะให้รสสัมผัสและความหอมที่ดี[1]

ส่วนครกที่ใช้ในการทำข้าวดอกรายจะมีลักษณะพิเศษ มีเฉพาะในชุมชนสะกอมเท่านั้น กล่าวคือเป็นครกไม้ที่มีปากครกใหญ่พอที่จะทำหน้าที่เป็นเขียงได้ทั้งสองด้าน[1] โดยจิรณรงค์ วงษ์สุนทร ให้คำอธิบายไว้วว่า "...ครกไม้ที่ใช้สำหรับตำข้าวดอกรายโดยเฉพาะ เป็นไม้ท่อนใหญ่ท่อนเดียว ขุดเป็นหลุม ที่ปากหลุมมีปีกที่กว้างออกไปพอที่จะใช้พื้นที่หั่น ซอย สับเครื่องน้ำพริกต่าง ๆ แทนเขียง แล้วปาดทุกอย่างลงไปในหลุมแล้วตำให้เข้ากัน"[3] ซึ่งครกไม้นี้ทำจากไม้ตะเคียนไม่ค่อยขึ้นรา หากขึ้นราให้ล้างด้วยน้ำส้มสายชู ขัดกับน้ำเกลือ และนำไปตากแดด[1]

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "ข้าวดอกราย: สายใยชีวิต ครอบครัวและท้องทะเลจะนะ". มติชนสุดสัปดาห์. 2 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "อิ่มทริป 02 กินนอนนครใน". The Cloud. 24 มิถุนายน 2562. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 จิรณรงค์ วงษ์สุนทร (18 มิถุนายน 2562). "ตามรอยร้านอร่อย อิ่มทริป 02 : กินนอนนครใน ไปกินอาหาร 9 มื้อเพื่อทำความรู้จักเมืองสงขลา". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "ข้าวดอกราย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. 4 มกราคม 2565. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 นฤมล คงบก และศุทธหทัย หนูหิรัญ (9 กุมภาพันธ์ 2565). "บันทึกความทรงจำจาก "จะนะ" : พื้นที่แห่งวิถีชีวิตอันงดงามจนไม่อาจลืมได้ลง". แอมเนสตี้. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya