Share to:

 

แกงโฮะ

แกงโฮะ
แกงโฮะ
ชื่ออื่นคั่วโฮะ
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องไทย
ผู้สร้างสรรค์อาหารไทยภาคเหนือ
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักผัก เนื้อสัตว์ วุ้นเส้น

แกงโฮะ หรือ คั่วโฮะ เป็นอาหารไทยภาคเหนือ โดยคำว่า โฮะ แปลว่า รวม เป็นอาหารที่นำเอาอาหารหลาย ๆ อย่างมารวมกัน แต่เดิมทำจากอาหารที่เหลือหลายอย่าง แล้วมาปรุงรสตามชอบ แต่ปัจจุบันนิยมใช้ของสดในการปรุงและใช้แกงฮังเลเป็นเครื่องปรุง[1]

แกงโฮะอาจมีที่มาจากแกงฮินเลหรือแกงฮังเลของพม่า คาดว่าเกิดที่วัด เนื่องจากในเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสงกรานต์ ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระเป็นจำนวนมาก ทำให้พระฉันไม่หมด และในสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น จะปล่อยให้เสียก็เสียดาย แล้วอาหารที่นำมาถวายก็เป็นอาหารดี อย่าง ห่อนึ่ง หมูปิ้ง หมูทอด แกงอ่อม ลาบ แคบหมู และอาจมีแกงใส่กะทิบ้าง ลูกวัดจึงนำอาหารเหล่านั้นมาโฮะ เติมน้ำแล้วเทน้ำออกเพื่อล้างความบูดออกบ้าง จากนั้นขึ้นตั้งไฟหรือผัดในน้ำมัน เติมเกลือ น้ำปลา พริกสด หรือพริกขี้หนู ปรุงรสตามชอบเติมวัตถุดิบเพิ่ม เช่น วุ้นเส้น หน่อไม้ และแต่งกลิ่นโดยใส่ใบมะกรูด ตะไคร้

ในปัจจุบัน แกงโฮะที่ปรุงใหม่ ไม่ได้ใช้ของเหลือมาทำ จะใช้เนื้อหมูติดมันและผักต่าง ๆ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักตำลึง หน่อไม้ดอง วุ้นเส้น มะเขือ ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยน้ำพริกที่ประกอบด้วยพริกสด หัวหอม กระเทียม เกลือ กะปิ โขลกเข้าด้วยกันให้ละเอียด นำเครื่องปรุงต่าง ๆ มาผัด แล้วใส่ผัก เติมน้ำพอสมควร เคี่ยวให้แห้ง ใส่วุ้นเส้น โรยพริกขี้หนูและใบมะกรูด[2]

อ้างอิง

  1. "แกงโฮะ". ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-12. สืบค้นเมื่อ 2020-08-20.
  2. "อาหารล้านนา - แกงโฮะ". มหาวิทยาลัยแม่โจ้. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-17. สืบค้นเมื่อ 2020-08-20.
Kembali kehalaman sebelumnya