Share to:

 

โรตี

โรตี
โรตีแบบอินเดีย หรือ จปาตี
ชื่ออื่นRuti
แหล่งกำเนิดอนุทวีปอินเดีย[1][2][3]
ผู้สร้างสรรค์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ[1]
ส่วนผสมหลักแป้งสาลี

โรตี เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ทำจากแป้ง นวดแล้วนำไปทอดหรือปิ้งเป็นแผ่นบาง ๆ รับประทานเป็นของหวานหรือรับประทานพร้อมอาหารคาวอื่น ๆ ในประเทศไทยมักจะคุ้นกับโรตีที่ทอดเป็นแผ่นนุ่ม ราดด้วยนมข้นและน้ำตาลทรายเป็นของหวาน

คำว่า โรตี เป็นคำศัพท์ที่พบได้ในหลายภาษา ได้แก่ ภาษาฮินดี, อุรดู, ปัญจาบี, โซมาลี, อินโดนีเซีย และมลายู ซึ่งทั้งหมดมีความหมายว่า ขนมปัง

ชื่อ

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า โรตี นั้น อาจหมายถึง ขนมปัง หรือผลิตภัณฑ์จากแป้งหลากหลายชนิด เช่น จปาตี และผุลกา ซึ่งผลิตภัณฑ์แป้งหรือขนมปังแต่ละอย่างต่างก็มีชื่อเฉพาะแตกต่างกันไป สำหรับในภาษามราฐี มักจะเรียกว่า จปาตี หรือ โปลี ส่วนในคุชรตี เรียกว่า "โรตลี" ในภาษาปัญจาบีเรียกว่า ผุลกา (Phulka) และมักจะใช้เรียกขนมปัง โดยมากจะการใช้คำนี้จะหมายถึงแป้งแบนกลม ไม่ขึ้นฟู อย่างที่รับประทานกันทั่วไปในประเทศอินเดียและปากีสถาน ส่วนแป้งแบบใส่ยีสต์ให้ขึ้นฟูนั้น จะเรียกว่า "นาน" (naan) ซึ่งเดิมมีกำหนดจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชียใต้และเอเชียกลาง บางครั้งชาวตะวันตกจะเรียกโรตีแบบนี้ว่า 'balloon bread' หรือ ขนมปังพอง

นอกเอเชียใต้

ในประเทศมาเลเซีย คำนี้มีความหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์แป้งทุกอย่าง รวมทั้งขนมปังแบบตะวันตกและขนมปังดั้งเดิมของปัญจาบี โรตีนั้นส่วนใหญ่จะทำมาจากแป้งข้าวสาลี ทอดบนกระทะแบนหรือโค้งเล็กน้อย เรียกว่า ตาวา (tawa) โดยนิยมทานเป็นอาหารหลักร่วมกับกับข้าวหรืออาหารอื่น อาจทาด้วยเนยใสหรือโยเกิร์ตขาว

โรตีไทย

โรตีใส่กล้วยและไข่ในเชียงใหม่

ในประเทศไทยนั้น คำว่า "โรตี" หมายถึง แป้งชนิดที่เรียกว่า "ไมทาปราฐา" แบบเดียวกันกับ โรตีมาเรียม โรตีจาเน หรือ โรตีกอนเด ในอาหารอินโดนีเซีย โรตีจาไน ในอาหารมาเลเซีย และ โรตีปราตา ในอาหารสิงคโปร์ แต่คนไทยไม่นิยมรับประทานโรตีกับแกงที่มีกลิ่นเครื่องเทศรุนแรง จึงนิยมโรยหน้าด้วยนมข้นหวาน น้ำตาลทราย บางครั้งก็ใส่ไข่ไก่ลงไปขณะกำลังทอดแป้งบนกระทะ รับประทานขณะร้อนหรืออุ่น โดยมีลักษณะเป็นของหวานมากกว่าของคาว[4] แต่โรตีที่รับประทานกับแกง หรือที่เรียกว่า โรตีจิ้มแกง มีจำหน่ายอยู่ชุมชนมุสลิมในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในแถบภาคใต้[5] โดยมากจะรับประทานคู่กับแกงไก่ และแกงมัสมั่นเนื้อ เสิร์ฟพร้อมกับอาจาด[6]

ปัจจุบันมีการทำโรตีหลายรสชาติ โดยที่นิยมกันมากคือการใส่กล้วยหอม โดยนำมาสับเป็นแว่นเล็ก ๆ แล้วโรยไปบนแป้งโรตีขณะทอดร้อน ๆ นอกจากนี้ยังมีโรตีราดแยมผลไม้และใส่เครื่องปรุงรสอื่น ๆ เช่น ช็อกโกแลต กาแฟ และยังมีโรตีพิซซ่า ซึ่งเป็นการผสมผสานรสชาติของตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน

โรตีในประเทศไทย มีทั้งในร้านอาหารและขายตามรถเข็น ผู้ขายจะทอดโรตีตามคำสั่งลูกค้า เมื่อปรุงเสร็จ จะพับและม้วนเป็นท่อนยาว ห่อด้วยกระดาษ หากเป็นโรตีที่มีไส้ ก็จะมีการหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ราดด้วยนมข้นและน้ำตาลทราย ปัจจุบันพบว่าผู้ขายจำนวนมากในประเทศไทยเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศ

ราคาโรตีแต่ละร้านจะแตกต่างกันออกไป เริ่มจากประมาณ 10 บาท ขึ้นไปจนถึง 60 บาท

โรตีของอินเดียตะวันตก

ในอินเดีย นอกจากคำว่า โรตี ยังมีชื่อเรียกว่า จปาตีหรือนาน โดยส่วนมากใช้แป้งสาลีผสมน้ำเปล่านวดจนเนียน จากนั้นแบ่งแป้งออกเป็นก้อน เพื่อนำไปทาบกระทะให้ร้อนและกรอบ หรือนำไปนาบไว้ภายในโอ่งขนาดใหญ่ที่สุ่มไฟใว้ข้างในจนร้อน เพื่อให้แป้งแห้งและกรอบฟู โดยทานกับเครื่องเคียงประเภทแกงเนื้อหรือแกงรสจัดแบบต่าง ๆ ในท้องถิ่น [7] [8] [9]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Alan Davidson (21 August 2014). The Oxford Companion to Food. OUP Oxford. pp. 692–. ISBN 978-0-19-104072-6.
  2. Jim Smith (15 April 2008). Technology of Reduced Additive Foods. John Wiley & Sons. pp. 113–. ISBN 978-1-4051-4795-8.
  3. Bruce Kraig; Colleen Taylor Sen (9 September 2013). Street Food Around the World: An Encyclopedia of Food and Culture. ABC-CLIO. pp. 301–. ISBN 978-1-59884-955-4.
  4. "รอบโลก.. โรตี". The Connecion. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง (30 กรกฎาคม 2565). "ชายคาเรื่องสั้น (7) – ประชากรแฝงในโรตีแกง". เดอะอีสานเรคคอร์ด. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "โรตีน้ำแกงแถวน้ำ". เทศบาลนครภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. http://www.oknation.net/blog/laemkcl/2007/12/11/entry-1
  8. http://www.ksa.deeanddang.com/tag/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5/[ลิงก์เสีย]
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-19. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya