Share to:

 

ขนมกุยช่าย

ขนมกุยช่าย
ขนมกุยช่ายแบบนึ่ง ไส้เป็นกุยช่ายเขียว
ชื่ออื่นช่วยปั้น
แหล่งกำเนิดจีน
ส่วนผสมหลักตัวขนมเป็นแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน ไส้เป็นกุยช่ายเขียวหรืออื่น ๆ
รูปแบบอื่นแบบติ่มซำ แบบแต้จิ๋ว แบบถาด แบบปากหม้อ

ขนมกุยช่าย (จีน: 韭菜粿; แต้จิ๋ว: กู๋ไช้ก้วย; เพ็งอิม: gu2 cai3 guê2; จีนกลาง: จิ่วไช่กั่ว) หรือที่เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีเรียก ช่วยปั้น [1] เป็นขนมประเภทแป้งของชาวจีนแต้จิ๋วชนิดหนึ่ง ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน ไส้ทำจากกุยช่ายเขียว ขนมกุยช่ายของชาวจีนแต้จิ๋วจะหมายถึงชนิดที่ไส้ทำจากกุยช่ายเท่านั้น[2] ส่วนในไทย ขนมกุยช่ายที่ทำจากแป้งอย่างเดียวกันแต่เปลี่ยนไส้เป็นแบบอื่น เช่น ไส้เผือก ไส้หน่อไม้ ไส้มันแกว ล้วนเรียกว่าขนมกุยช่าย[3] กุยช่ายแบบจีนนั้นมีแบบที่เป็นติ่มซำ ซึ่งทำชิ้นเล็ก แป้งใช้แป้งตังหมิ่นซึ่งเป็นแป้งสาลีที่นำกลูเต็นออกแล้วแทนแป้งข้าวเจ้า มีทั้งแบบนึ่งและทอด ถ้าทอดจะเรียกว่า ขนมกุยช่ายทอด อีกแบบหนึ่งเป็นขนมกุยช่ายแบบแต้จิ๋วที่มีขนาดใหญ่กว่า[4]

ขนมกุยช่ายทอด

สำหรับขนมกุยช่ายที่เป็นที่นิยมในไทย มี 3 แบบ คือ ขนมกุยช่ายแบบแต้จิ๋ว ที่ทำเป็นก้อนขนาดใหญ่ ขนมกุยช่ายแบบถาด ที่ใส่กุยช่ายกวนไปพร้อมแป้งแล้วนึ่งให้สุก และขนมกุยช่ายปากหม้อหรือขนมกุยช่ายแป้งสด ซึ่งใช้แป้งแบบข้าวเกรียบปากหม้อ แต่เปลี่ยนไส้เป็นขนมกุยช่ายผัดแทน[3]

ขนมกุยช่ายโดยทั่วไปเนื้อแป้งจะเป็นสีขาว หากใช้ในงานเทศกาลหรือไหว้เจ้าต่าง ๆ เนื้อแป้งจะเป็นสีชมพูหรือแดงเรื่อ ๆ[5]

โดยสถานที่ ๆ ขึ้นชื่อเรื่องขนมกุยช่ายอร่อยนั้นคือ ตลาดพลู ในเขตธนบุรี สันนิษฐานว่าเข้ามาสู่ประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และแพร่หลายโดยทั่วไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[5]

อ้างอิง

  1. "ตลาดสดสนามเป้า 19 ตุลาคม 2557 (FULL) [HD] "9 คู่ฮา" โชว์ทีเด็ด ประชันแซบกลาง "ตลาดสดฯ"". ช่อง 5. 19 October 2014. สืบค้นเมื่อ 20 October 2014.
  2. ทัศน์ ศุกลรัตนเมธี. สืบสานตำนาน อาหารแต้จิ๋ว. กทม. ตู้กับข้าว. 2556
  3. 3.0 3.1 กุยช่าย. กทม. แม่บ้าน. 2555
  4. ติ่มซำห้องแถวเป็นอาชีพ. กทม. แสงแดด. 2556
  5. 5.0 5.1 "พินิจนคร: ตลาดพลู อู่อาหาร คลังการค้านานาชาติ แห่งราชธานี". ไทยพีบีเอส. 7 December 2009. สืบค้นเมื่อ 22 September 2014.
Kembali kehalaman sebelumnya