Share to:

 

หมี่กะทิ

หมี่กะทิ
หมี่กะทิแบบลาว
ชื่ออื่นหมี่แขก
มื้ออาหารหลัก
แหล่งกำเนิดประเทศไทย[1][2]
ส่วนผสมหลักเส้นหมี่ขาว, กะทิ, ไข่
พลังงาน
(ต่อ 250 กรัม หน่วยบริโภค)
275 กิโลแคลอรี (1151 กิโลจูล)[1]
คุณค่าทางโภชนาการ
(ต่อ250 กรัม serving)
โปรตีน11 กรัม
ไขมัน10.3 กรัม
คาร์โบไฮเดรต34.5 กรัม
จานอื่นที่คล้ายกันมีเซียม, ผัดไทย, ขนมจีนน้ำพริก

หมี่กะทิ บ้างเรียก หมี่แขก, ผัดหมี่สีชมพู หรือ หมี่สยาม (มลายู: Mee siam) เป็นอาหารไทยชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นหมี่ขาวราดด้วยน้ำแกง หรือเป็นหมี่ขาวผัดกับน้ำปรุง[1] โดยเส้นนั้นจะมีสีออกชมพู[3][4] พบได้ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งหมี่กะทิในแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างออกไป[2][5] นอกจากนี้ยังสามารถพบอาหารที่มีลักษณะเดียวกันได้ในประเทศลาว และประเทศมาเลเซีย

สามารถพบอาหารชนิดนี้ได้ตามงานมงคลในต่างจังหวัด จนได้รับสมญาว่า "หมี่แขก" เพราะเป็นอาหารรับรองแขกเหรื่อ[2]

ส่วนผสม

การทำหมี่กะทิแบบภาคกลาง มีกรรมวิธีไม่ยุ่งยาก เบื้องต้นคือการผัดเส้นหมี่ขาวให้เข้ากับซอสรสเปรี้ยว เผ็ด และหวาน[2] โดยใช้ซอสสีแดงเรื่อ ๆ ที่ได้จากมะเขือเทศเป็นหลัก[1][2][5] บ้างก็แต่งสีโดยการใส่เต้าหู้ยี้หรือซอสเย็นตาโฟ เพื่อให้สีสันของเส้นหมี่ชัดเจนขึ้น[2][3] เริ่มต้นจากการลวกเส้นหมี่ขาวให้นิ่ม แล้วนำไปผัดกับกะทิ เนื้อมะเขือเทศ ถั่วงอก และใบกุยช่ายจนเข้ากันเสียก่อนให้เส้นหมี่ขาวมีสีออกแดงเท่ากัน และน้ำกะทิงวดลง[3] ส่วนน้ำราดนั้น ทำจากน้ำกะทิ ใส่หอมแดงสับลงไปผัด ตามด้วยกุ้งสับ และหมูสับ[3] ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว น้ำตาลปี๊บ พริกป่น น้ำส้มมะขามเปียก ให้ได้รสชาติเค็ม เปรี้ยว หวานเล็กน้อย[1] บ้างก็ปรุงให้รสชาติเปรี้ยวหวานนำ และเค็มเล็กน้อย[4] ก่อนนำมาราดลงเส้นหมี่ขาว[1] หรือนำไปผัดกับเส้นหมี่จนแห้งก่อนเสิร์ฟ[4] โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นฝอย ผักชี พริกชี้ฟ้าแดงหั่นฝอย รับประทานเคียงกับใบกุยช่าย ใบบัวบก หัวปลี และถั่วงอกดิบ[1] หรือปรุงรสเพิ่มเติมด้วยมะนาว พริกป่น และถั่วลิสงคั่วป่น[3]

การทำหมี่กะทิแบบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะที่ต่างออกไปจากแบบภาคกลาง คือมีลักษณะคล้ายกับขนมจีนน้ำพริก ใช้เส้นเล็กแทนเส้นหมี่ขาว ไม่ได้ใช้การผัดเส้น[2] และมีน้ำราดแยกต่างหาก[5] ตัวเส้นใช้เส้นเล็ก ลวกให้สุกแล้วคลุกเคล้าด้วยกระเทียมเจียว ส่วนตัวน้ำยาหรือน้ำราดมีลักษณะเหมือนน้ำยาน้ำพริก ทำจากกะทิผัดเข้ากับพริกแกง ใส่หมูสับที่โขลกกับเต้าเจี้ยวและถั่วลิสงบดให้เข้ากันใส่ในหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลทราย แล้วตีไข่ไก่ลงไปให้เป็นฝอยลอยในหม้อ เมื่อจะรับประทาน ให้นำเส้นเล็กคลุกเคล้าเข้ากับน้ำยา รับประทานเคียงกันกับใบบัวบก ถั่วงอกดิบ ถั่วฝักยาว ผักติ้ว และดอกอัญชัน[6]

การทำหมี่กะทิแบบภาคใต้ เรียกว่า หมี่ฮุ้นผัดกะทิ มีลักษณะใกล้เคียงกับภาคกลางอยู่บ้าง คือ การนำหมี่ขาว (หรือหมี่ฮุ้น) มาผัดแต่ไม่ใส่สีชมพูอย่างภาคกลาง แล้วนำเส้นหมี่ฮุ้นมาผัดกับเครื่องแกง ที่ทำจากกะทิ พริกแกงพริกเผา ผัดกับหอมแดง เต้าเจี้ยวขาว หมูสับ กุ้ง ปลาหมึก หรือกากหมู ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก แต่ไม่ใส่น้ำปลา[2][5]

โภชนาการ

หมี่กะทิแบบภาคกลาง จัดเป็นอาหารที่มีปริมาณกากใยอาหารระดับดีปานกลาง ให้พลังงานต่ำ แต่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งมาจากตัวน้ำราดกะทิ[1]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "หมี่กะทิ​". หมอชาวบ้าน. 1 กุมภาพันธ์ 2548. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. {{cite web}}: zero width space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 9 (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 ""หมี่กะทิ" รากวัฒนธรรมอาหารจานเดี่ยว​ สีสวยหวานทานอร่อย​". Foodie Taste. 1 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. {{cite web}}: zero width space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 37 (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "หมี่กะทิ". ข่าวสด. 6 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 "ผัดหมี่กะทิ (ผัดหมี่สีชมพู) หวานหอมมันจากกะทิ เมนูยอดฮิตหน้าโรงเรียน". มติชนสุดสัปดาห์. 12 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "หมี่กะทิ". คัม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-13. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. พุดตาน (7 เมษายน 2563). "​หมี่กะทิ​ เมนูเน้นผักเพื่อสุขภาพ". True ID. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. {{cite web}}: zero width space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 1 (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
Kembali kehalaman sebelumnya