ลักซา (มลายู: laksa) หรือที่ในภาษามลายูปัตตานีเรียกว่า ละซอ (ออกเสียง: [laˀsɔ])[1] เป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวรสเผ็ดของชาวเปอรานากัน[2][3] อันเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับมลายูในประเทศมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย[4] รวมทั้งทางใต้ของประเทศไทย[5]
จุดกำเนิด
ที่มาของคำว่าลักซาไม่เป็นที่ทราบ มีทฤษฎีที่ว่า เป็นคำในภาษาอูรดูหรือเปอร์เซียว่า ลัคชาฮ์ (lakhshah) ที่แปลว่าเส้นแวร์มีเชลลี (Vermicelli; เส้นชนิดหนึ่งที่เล็กกว่าเส้นสปาเกตตี) ชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่ามาจากคำสันสกฤตว่า ลักษะ หรือ ลักขะ (लकशस्; ایک لاکھ) ที่แปลว่า "หนึ่งแสน"[6] บ้างก็ว่ามาจากคำกวางตุ้งว่า หลาดซ้า (辣沙; làːt.sáː) ที่แปลว่า "ทรายเผ็ด"[7]
ชนิด
ลักซาพื้นฐานมีสองชนิดคือลักซาแกงกับลักซาเปรี้ยว ลักซาแกงคือก๋วยเตี๋ยวแกงที่น้ำก๋วยเตี๋ยวเป็นน้ำแกงกะทิ ส่วนลักซาเปรี้ยว น้ำก๋วยเตี๋ยวเป็นซุปปลารสเปรี้ยว
ลักซาแกง
ลักซาแกง หรือเรียกสั้น ๆ ว่าลักซา เป็นซุปที่มีลักษณะของน้ำแกงกะทิ ใส่ลูกชิ้นปลา กุ้ง และหอยแครง บางท้องที่มีลักซาไก่ บางครั้งกินกับซัมบัล ในปีนังเรียกว่าหมี่แกงเพราะนิยมใช้หมี่เหลืองหรือหมี่ฮุ้นมากกว่า และนิยมใส่เลือดหมู คำว่าลักซาแกงเป็นที่รู้จักทั่วไปในกัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร์ เช่นเดียวกับเย็นตาโฟ ลักซากุ้ง รูปแบบที่หลากหลายของลักซาแกงได้แก่
- ลักซาเลอมัก (Laksa lemak) หรือ ลักซาย่าหยา (Laksa nyonya) เป็นลักซาที่ใส่กะทิมาก มีรสหวานอ่อนและเผ็ดมาก ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากลักซาไทย (Laksa Thai)
- ลักซัม (Laksam) เป็นชนิดที่พบเป็นพิเศษทางตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะที่ตรังกานูและกลันตัน รวมทั้งในเกอดะฮ์ ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากข้าวที่ขนาดแบนใหญ่ ใส่ปลาและกะทิ บางครั้งทำจากเนื้อปลา เช่นปลาไหล แต่เดิมต้องรับประทานด้วยมือเพื่อจิ้มน้ำแกง[8] ในภาษามลายูปัตตานีจะเรียกลักซัมว่า "ละแซ"[9]
- ลักซากาตง (Laksa Katong) เป็นลักซาเลอมักที่พบในกาตง ประเทศสิงคโปร์ เส้นก๋วยเตี๋ยวถูกตัดสั้นจนสามารถตักรับประทานด้วยช้อนได้ เป็นอาหารที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอาหารประจำชาติของสิงคโปร์
ลักซาเปรี้ยว
ลักซาเปรี้ยว เป็นลักซาที่ใช้น้ำซุปรสเปรี้ยว นิยมใช้มะขามเปียก หรือส้มแขก ส่วนผสมหลักเป็นปลาเช่นปลาแมกเคอเรล ผักหั่นชิ้น เช่น แตงกวา หอมใหญ่ พริกขี้หนู สับปะรด ผักกาดหอม สะระแหน่ ขิงอ่อน ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากข้าว ใส่ลูกชิ้นกุ้งที่เรียกแฮโก (蝦羔) ลักซาเปรี้ยวชนิดต่าง ๆ ได้แก่
- ลักซาเกาะปีนัง (Laksa Pulau Pinang) เป็นอาหารของเกาะปีนัง ทำจากปลาแมกเคอเรล เปรี้ยวด้วยมะขาม ใส่ตะไคร้ ข่า และพริก ใส่ใบสะระแหน่ สับปะรดหั่น หอมใหญ่หั่น ลักซาชนิดนี้ต่างจากแกงหมี่ในปีนัง
- ลักซาปะลิส (Laksa Perlis) คล้ายกับลักซาปีนัง แต่ต่างกันที่เครื่องปรุง เช่นปลาดุกและปลาไหล
- ลักซาเกอดะฮ์ (Laksa Kedah) คล้ายกับลักซาปีนัง แต่ต่างที่เครื่องปรุง นิยมใส่ไข่ต้มฝาน และเส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าว
- ลักซาอีโปะฮ์ (Laksa Ipoh) เป็นลักซาของเมืองอีโปะห์ในมาเลเซีย คล้ายลักซาเกาะปีนัง แต่รสเปรี้ยวกว่า
- ลักซากัวลากังซาร์ (Laksa Kuala Kangsar) เส้นทำเองจากแป้งสาลี รสอ่อนกว่าลักซาอีโปะฮ์
ชนิดอื่น ๆ
มีลักซาหลายชนิดที่ก้ำกึ่งระหว่างลักซาแกงกับลักซาเปรี้ยว ได้แก่
- ลักซายะโฮร์ (Laksa Johor) มีลักษณะที่คล้ายลักซาปีนังเฉพาะเนื้อปลาที่ใช้ ส่วนที่ต่างไปคือใส่กะทิ ตะไคร้ ข่า มีรสเผ็ดคล้ายแกง ใส่หอมใหญ่หั่น ถั่วงอก ใบสะระแหน่ แตงกวาและหัวไชเท้า ปรุงรสด้วยซัมบัล เบอลาจัน ก่อนรับประทานจะบีบมะนาวลงไป บางครั้งใช้สปาเกตตีแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว
- ลักซาซาราวัก (Laksa Sarawak) พบในรัฐซาราวัก เครื่องปรุงประกอบด้วยซัมบัลเบอลาจัน มะขามเปรี้ยว กระเทียม ข่า ตะไคร้ และกะทิ ใส่ไข่เจียว เนื้อไก่ มะนาว เต้าหู้ทอด หรืออาหารทะเล
- ลักซากลันตัน (Laksa Kelantan) เป็นอาหารง่าย ๆ ที่เป็นที่นิยมในโกตาบารู รัฐกลันตัน ใส่ปลาแมกเคอเรลต้มและสับ ปลาสับนั้นจะนำไปทอดกับหัวหอม กระเทียม ขิง พริก กะปิ ตะไคร้และมะขามเปียก ใส่กะทิในตอนสุดท้าย คนให้ข้น ใส่ผักสด และพริกบดข้าง ๆ
- ลักซาโบโกร์ (Laksa Bogor) เป็นลักซาที่มีชื่อเสียงมากในอินโดนีเซีย อยู่ที่เมืองโบโกร์ ชวาตะวันตก น้ำแกงสีเหลืองข้น ซึ่งเป็นส่วนผสมของหอมแดง กระเทียม ผักชี ขมิ้น ตะไคร้และเกลือ เครื่องปรุงที่ใส่ลงในชาม ได้แก่ เส้นก๋วยเตี่ยวจากข้าว ข้าวเหนียวนึ่ง ถั่วงอก ใบโหระพา อนจม (คล้ายเต็มเป) เนื้อไก่ ไข่ต้ม รับประทานกับซัมบัลจูกา
- ลักซาเบอตาวี (Laksa Betawi) เป็นลักซาที่มาจากจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย น้ำแกงสีเหลืองข้น ใส่กะทิ ส่วนผสมน้ำพริกแกงประกอบด้วย หอมแดง กระเทียม ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ใบซาลาม ใบมะกรูด ขิง พริกไทย กุ้งแห้ง เครื่องปรุงในชามประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง ถั่วงอก ใบโหระพา และไข่ต้ม
- ลักซาปาเล็มบัง มีสองแบบคือแบบที่เรียก ลักโซปาเล็มบัง (Lakso Palembang) ใส่สาคูนึ่งที่ฝานเป็นชิ้น น้ำแกงใส่กะทิ และเครื่องปรุงต่าง ๆ ได้แก่น้ำตาลมะพร้าว พริกไทยดำ ขมิ้น ผักชี โรยหอมแดงเจียว อีกแบบหนึ่งเรียก ลักซันปาเล็มบัง (Laksan Palembang) เป็นการนำลูกชิ้นปลามารับประทานกับน้ำซุปของลักซา พบเฉพาะทางใต้ของสุมาตรา น้ำแกงใส่กะทิ รับประทานคู่กับกุ้งทอด
อ้างอิง
- ↑ นูรีดา หะยียะโกะ. พจนานุกรมภาพ ภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย, 2556, หน้า 109.
- ↑ "CITURS AND CANDY ASSAM LAKSA". January 24, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2015-06-24.
- ↑ "Laksa Lemak Recipe - Malaysia (Gordon's Great Escape)". May 23, 2011.
- ↑ Lara Dunston (October 24, 2012). "Laksa: Discovering Malaysia's signature dish". Asian Correspondent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-15. สืบค้นเมื่อ 2015-06-24.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ไทยรัฐ
- ↑ Winstedt, Sir Richard (Olaf), An Unabridged Malay–English Dictionary (5th ed., enlarged) (Kuala Lumpur: Marican & Sons, 1963)
- ↑ Hutton, Wendy, Singapore Food (Marshall Cavendish, 2007) [Wendy-Hutton]
- ↑ "Terengganu government tourism – Laksam". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-17. สืบค้นเมื่อ 2015-06-24.
- ↑ นูรีดา หะยียะโกะ. พจนานุกรมภาพ ภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย, 2556, หน้า 115.
แหล่งข้อมูลอื่น
วิธีทำ
|
---|
อาหารจานเดียว | |
---|
กับข้าว | |
---|
อาหารว่าง | |
---|
ของหวาน | |
---|
ส่วนประกอบ/เครื่องปรุงรส/ เบ็ดเตล็ด | |
---|
เครื่องดื่ม | |
---|
|