นาซีเลอมักนาซีเลอมักกับปลาร้า ถั่วลิสง ไข่ แกงแกะ ผัก และซัมบัล |
ชื่ออื่น | นาซิ ลือเมาะ, ข้าวมันมลายู |
---|
มื้อ | จานหลักสำหรับมื้อเช้า |
---|
แหล่งกำเนิด | มาเลเซีย[1][2][3][4][5] |
---|
ภูมิภาค | แพร่หลายทั่วไปในมาเลเซีย พบในสิงคโปร์ หมู่เกาะรีเยาในอินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทยด้วย |
---|
ผู้สร้างสรรค์ | อาหารมาเลเซีย |
---|
อุณหภูมิเสิร์ฟ | ร้อนหรืออุณหภูมิห้อง |
---|
ส่วนผสมหลัก | ข้าวหุงกับกะทิ กินกับอาหารอื่น ๆ |
---|
รูปแบบอื่น | นาซีอูดุกในอินโดนีเซีย |
---|
|
นาซีเลอมัก (มลายู: nasi lemak) หรือที่ในภาษามลายูปัตตานีเรียกว่า นาซิ ลือเมาะ (ออกเสียง: [nasiˀ lɨmɔˀ])[6] และที่ในบางครั้งเรียกเป็นภาษาไทยว่า ข้าวมันมลายู[7][8] เป็นข้าวเจ้าหุงกับกะทิ ซึ่งพบในมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์[9] หมู่เกาะรีเยาของอินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย[8] มาเลเซียกล่าวว่าอาหารชนิดนี้เป็นอาหารประจำชาติและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมาเลเซีย แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายในบริเวณอื่น ๆ[10] อาหารนี้เป็นคนละชนิดกับนาซีดากัง (นาซิ ดาแกฺ) ซึ่งเป็นที่นิยมทางชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู คือกลันตันและตรังกานู แต่ทั้งนาซีเลอมักและนาซีดากังก็เป็นอาหารเช้าที่แพร่หลาย
คำว่า นาซีเลอมัก ในภาษามลายูหมายถึงข้าวมัน โดยนำข้าวไปแช่ในกะทิ แล้วนำส่วนผสมไปนึ่ง กระบวนการปรุงคล้ายกับอาหารอินโดนีเซียคือนาซีอูดุก บางครั้งจะเติมใบเตยหอมลงบนข้าวขณะนึ่งเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม อาจเพิ่มเครื่องเทศบางชนิด ได้แก่ ขิงและตะไคร้ เพื่อเพิ่มความหอม
การรับประทานแบบพื้นบ้านจะห่อด้วยใบตอง ใส่แตงกวาหั่น ปลากะตักแห้งทอด (ikan bilis) ถั่วลิสงอบ ไข่ต้มแข็ง และซัมบัลซึ่งเป็นซอสมีลักษณะคล้ายน้ำพริก รสเผ็ด นาซีเลอมักนี้อาจจะรับประทานกับไก่ทอด (ayam goreng) ผักบุ้งผัด หมึกผัดพริก (sambal sotong) หอยแครง อาจาด เรินดังเนื้อ (แกงเนื้อกับกะทิและเครื่องเทศ) หรือปอดวัว (paru) อาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรสเผ็ด
นาซีเลอมักเป็นที่นิยมรับประทานในมาเลเซียและสิงคโปร์ นิยมกินเป็นอาหารเช้าทั้งสองประเทศ หรือรับประทานในภัตตาคารเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็น มีขายทั้งในศูนย์อาหารของสิงคโปร์และข้างถนนในมาเลเซีย นาซีเลอมักกูกุซ (nasi lemak kukus) หรือข้าวมันนึ่ง เป็นอีกชื่อหนึ่งของนาซีเลอมักที่ปรุงให้สุกด้วยการนึ่ง
รูปแบบที่หลากหลาย
ในมาเลเซียและสิงคโปร์ นาซีเลอมักมีรูปแบบที่หลากหลาย แปรผันไปตามผู้ปรุงจากต่างวัฒนธรรม นาซีเลอมักแบบดั้งเดิมของมาเลเซียพบทางตอนใต้และตอนกลางของคาบสมุทรมลายู ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียนิยมบริโภคนาซีเลอมักเช่นกัน ซัมบัลที่รับประทานคู่กับนาซีเลอมักมีตั้งแต่รสเผ็ดจนถึงรสหวาน นาซีเลอมักทางตะวันตกเฉียงเหนือมักรับประทานกับแกงด้วย ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือ นาซีดากังข้าวยำหรือนาซี-กราบู และนาซีเบอร์เลาก์เป็นที่นิยมมากกว่า ส่วนในรัฐซาราวักและซาบะฮ์ไม่นิยมรับประทานนาซีเลอมัก
- แบบของชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย คล้ายคลึงกับรูปแบบดั้งเดิมของชาวมลายู ต่างกันที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและไม่รับประทานเนื้อวัว
- แบบของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน จะมีแบบที่ใช้เนื้อหมูในการปรุงซึ่งไม่ใช่อาหารฮาลาล
- แบบของหมู่เกาะรีเยา นิยมใส่ปลาชิ้นเล็กที่เรียกอีกันตัมบัน ซึ่งมักจะทอดให้กรอบ กินกับซัมบัล
- แบบของชาวสิงคโปร์เชื้อสายมลายู นิยมใช้ปลาร้า ที่เรียกอีกันบีลิซ ถั่ว ปลาทอด แตงกวา บางครั้งใส่ไข่
- แบบของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน นิยมใส่มะรุมทอด ลูกชิ้นปลา และแกงผัก
- แบบมังสวิรัติ มักพบในกัวลาลัมเปอร์ โดยแทนที่ปลาหมักด้วยปลาร้าเจ
นอกจากนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 แมคโดนัลด์กิจการร้านอาหารจานด่วนระดับโลกของอเมริกา สำหรับสาขาในสิงคโปร์ได้ผลิตนาซีเลอมักในรูปแบบของแฮมเบอร์เกอร์ด้วย โดยใช้ขนมปังแทนข้าว เมนูนี้ได้รับความนิยมมาก แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ออกมาสองกระแส คือ บ้างก็บอกว่ามีรสชาติอร่อยเหมือนนาซีเลอมักต้นฉบับ แต่บ้างก็บอกว่าไม่อร่อยและขาดเอกลักษณ์ของนาซีเลอมักไป[11]
ภาพ
-
นาซีเลอมักแบบพื้นฐานกินไข่ ปลาหมัก แตงกวา และซัมบัล
-
นาซีเลอมักกับแกงไก่ กินบนใบตอง
-
ส่วนผสมอื่น ๆ ที่กินกับนาซีเลอมักได้แก่ ปีกไก่ทอด แตงกวาหั่น
-
นาซีเลอมักกับแกงไก่ ซัมบัล ปลาหมัก ถั่วลิสง ไข่ และแตงกวา
อ้างอิง
- ↑ "#CNNFoodchallnge: What's your national dish? | CNN Travel". CNN Travel (ภาษาอังกฤษ). 2015-09-18. สืบค้นเมื่อ 2018-11-16.
- ↑ Teh, Eng Hock (2009-09-17). "Laksa and nasi lemak among our pride, says Yen Yen". www.thestar.com.my. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2018. สืบค้นเมื่อ 2018-11-16.
- ↑ Ahmad, Aida (2014-11-19). "Nasi lemak - once a farmer's meal, now Malaysia's favourite". www.thestar.com.my. สืบค้นเมื่อ 2018-11-16.
- ↑ "Malaysia's top 40 foods". CNN Travel (ภาษาอังกฤษ). 2017-11-30. สืบค้นเมื่อ 2018-11-16.
- ↑ Ram, Sadho (2014-05-18). "Ipoh-Born Ping Coombes Wins MasterChef 2014 By Cooking Nasi Lemak And Wanton Soup". SAYS.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-11-16.
- ↑ นูรีดา หะยียะโกะ. (2556). พจนานุกรมภาพ ภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย, หน้า 113.
- ↑ นันทนา ปรมานุศิษฎ์. (2556). โอชาอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, หน้า 205.
- ↑ 8.0 8.1 สุนีย์ วัฑฒนายน. (2557). "6 อาหารท้องถิ่น วัฒนธรรมการกินแบบพื้นบ้าน สืบสานสู่อาเซียน." วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 4 (1), 39.
- ↑ "Nasi lemak". YourSingapore.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-19. สืบค้นเมื่อ 2012-05-05.
- ↑ "Nasi Lemak". Malaysia.com. สืบค้นเมื่อ 2010-07-06.
- ↑ หน้า 12 ASEAN+, "แมคโดนัลด์สิงคโปร์เปิดเมนูท้องถิ่น." กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10534: วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
|
---|
อาหารจานเดียว | |
---|
กับข้าว | |
---|
อาหารว่าง | |
---|
ของหวาน | |
---|
ส่วนประกอบ/เครื่องปรุงรส/ เบ็ดเตล็ด | |
---|
เครื่องดื่ม | |
---|
|