ขนมผักกาด
ขนมผักกาด หรือ ขนมหัวผักกาด เป็นอาหารว่างจำพวกติ่มซำที่พบบ่อยในสำรับอาหารแต้จิ๋ว และในอาหารกวางตุ้ง นอกจากนี้ขนมผักกาดยังได้รับความนิยมในวัฒนธรรมอาหารหมิ่นใต้และหมิ่นตงเช่นในฝูเจี้ยนและไต้หวัน รวมทั้งในวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลในสิงคโปร์ และในมาเลเซีย ซึ่งชาวฮกเกี้ยนเหล่านี้รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตเรียก ฉ่ายถ้าวโก้ย (เป่อ่วยยี: chhài-thâu-kóe) นิยมกินทั้งแบบนึ่ง แบบจี่ ทอด และแบบผัด ชื่อในภาษาไทยเรียกว่า “ขนมหัวผักกาด” ใช้เรียกอาหารแป้งนึ่งจากข้าวเจ้าและข้าวเหนียวโดยทั่วไป[1] ในภาษาอังกฤษอาจเรียกตามทับศัพท์สำเนียงแต้จิ๋ว คือ "chai tow kway" เมื่อแปลตามตัวคือ radish cake ผักกาดหัว (菜头) แต่บางครั้งเมื่อสับสนจากการแปล "แครอท" จากภาษาจีนกลาง ผักกาดหัวมักใช้คำว่า “萝卜“ (หลัวปั่ว) และ แครอทคือ “红萝卜“ (หงหลัวปั่ว) ทำให้บางพื้นที่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบฮกเกี้ยนเรียก "carrot cake" ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ "เค้กแครอท" เค้กทำจากแครอทในวัฒนธรรมอาหารตะวันตก เนื่องจากการเรียกชื่อผิดนี้ทำให้เกิดการเขียนหนังสือแนะนำอาหารข้างทางของสิงคโปร์ที่โด่งดังและตั้งชื่อหนังสือว่า There's No Carrot in Carrot Cake (ไม่มีแครอทในขนมหัวผักกาด) ซึ่งเขียนโดย Dr. Olivia Law จัดพิมพ์โดย Epigram Books ในปี ค.ศ. 2010 ส่วนประกอบทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำ หัวไชเท้าขาวขูดยาวหรือหั่นฝอยและควรบีบน้ำออกเพื่อช่วยลดรสเฝื่อนของไชเท้า อาจเติมแป้งเท้ายายม่อม[2] แป้งสาลี[3] แป้งข้าวโพด[4] เพื่อให้เกาะตัวเป็นก้อนได้ดีขึ้น จากนั้นเติมเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เช่น จำพวกเนื้อได้แก่กุ้งแห้ง เนื้อหมู หรือ กุนเชียง[3][5] และจำพวกพืชหอมได้แก่ เห็ดหอม ถั่วลิสง กระเทียมเจียว รวมทั้งเหล้าจีน พริกไทยและเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากันพักไว้ แล้วนำไปนึ่ง[6] หั่นเป็นแผ่นขนาดใหญ่ และกินกับน้ำจิ้มผสมน้ำส้มสายชูพริก ขนมผักกาดทอดนำขนมผักกาดที่นึ่งและทิ้งไว้ให้อุณหภูมิลดลงเพื่อให้มีความเหนียวจับตัวได้ดี นำไปจี่ ทอด[6] หรือผัดกับกับไข่ อาจปรุงรสด้วยไชโป๊ น้ำมันหอย ซีอิ๊วดำหวาน น้ำตาลทราย พริกไทยป่น อาจเติมถั่วงอก[2] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิพจนานุกรม มีความหมายของคำว่า ขนมผักกาด
|