อาโป้ง
อาโป้ง มาจากภาษามลายูถิ่นคำว่า อาปม (Apom), อาปง Apong, อาปัมมานิซ (มลายู: Apam manis อักษรยาวี: اڤم مانيس) เป็นที่รู้จักในฐานะอาหารพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต ได้รับอิทธิพลจากประเทศมาเลเซีย โดยมีแป้งข้าวเจ้าหมักและกะทิเป็นผสมหลัก มีถิ่นกำเนิดจากอินเดียใต้ พบได้ทั่วไปในรัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกา[1][2] ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย[3] นิยมรับประทานในมื้อเช้าหรือมื้อเย็น ที่มาคำว่า อาโป้ง ที่ชาวภูเก็ตใช้เรียกชื่อขนม มีที่มาจากภาษามลายู Apom หรือ Apong โดยภาษามลายูรับมาจากภาษาทมิฬ: ஆப்பம் (Āppam) ผ่านชาวอินเดียที่อพยพมาใช้แรงงานในคาบสมุทรมลายูในอดีต เดิมที่อาโป้งในแบบฉบับดังเดิมของอินเดียเป็นอาหารคาว มีส่วนผสมของนมข้าวและกะทิผสมกัน ทิ้งให้ยีสต์ขึ้นแล้วจึงนำไปใส่หลุมกระทะ รับประทานคู่กับแกงกะหรี่ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมทานเป็นมื้อเช้าอย่างมากในอินเดียใต้ เมื่อขนมชนิดนี้ได้ถูกเผยแพร่มาสู่คาบสมุทรมลายู ได้มีการปรับเปลี่ยนรสชาติให้ถูกปากคนท้องถิ่นได้การผสมน้ำตาลลงไป ทำให้อาโป้งกลายเป็นขนมหวานที่นิยมรับประทานในภาคใต้ของประเทศไทย, ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์[4] อ้างอิง
|